รถยนต์ความร้อนขึ้น ควรรับมืออย่างไร?
รถยนต์ความร้อนขึ้น หรือ เครื่องยนต์โอเวอร์ฮีท (Over Heat) หมายถึง เครื่องยนต์มีความร้อนเกินกว่าระดับการใช้งานปกติ ซึ่งจะเกิดจากความผิดปกติที่เกี่ยวกับระบบช่วยระบายความร้อนของรถยนต์ เมื่อเครื่องยนต์มีอุณหภูมิสูง (เครื่องยนต์ร้อนจัด) จะทำให้ไม่สามารถรักษาอุณหภูมิในห้องเครื่องให้อยู่ในระดับปกติ ส่งผลให้เครื่องยนต์ร้อนจัดและเกิดเป็นควันพุ่งขึ้นมาได้
สาเหตุของเครื่องยนต์ความร้อนขึ้น
- ปิดฝาหม้อน้ำไม่สนิท หรือ ฝาเสื่อมสภาพ
- พัดลมหม้อน้ำทำงานผิดปกติ หรือ ไม่ทำงาน
- หม้อน้ำเกิดการรั่วซึม ในระบบหล่อเย็น
- สายพานปั้มน้ำขาด
- ปั้มน้ำชำรุด
- วาล์วน้ำไม่ทำงาน
- ท่อทางเดินน้ำชำรุด หรือ อุดตัน
ลักษณะไหนถึงเรียกว่าความร้อนขึ้น ?
รถยนต์ตามท้องตลาดทั่ว ๆ ไปจะมีการแสดงผลเรื่องความร้อนของเครื่องยนต์แตกต่างกันไป โดยจะแบ่งได้ 2 แบบดังนี้
แบบที่ 1 : มาตรวัดแบบเข็ม โดยปกติแล้วตัวเข็มจะอยู่ที่กึ่งกลางระหว่างตัวอักษร C กับ H ซึ่งตัวอักษร C จะแทนคำว่า Cool ส่วนตัวอักษร H จะแทนคำว่า Hot หากพบว่าเข็มไปแตะที่ขีดสีแดง แสดงว่าอุณหภูมิของเครื่องยนต์สูงมากแบบผิดปกติ
อุณหภูมิของเครื่องยนต์เป็นปกติ
อุณหภูมิของเครื่องยนต์สูงเกินปกติ
แบบที่ 2 : สัญลักษณ์ไฟเตือน เรามักจะพบสัญลักษณ์ไฟเตือนรูปปรอทในรถยนต์รุ่นใหม่ ๆ บางคันจะมีลักษณะไฟขึ้นเป็นสีเขียวหรือสีฟ้า (ตามแต่ละรุ่นรถ) ในกรณีนี้ถือว่าเครื่องยนต์มีอุณหภูมิที่ปกติ ในทางกลับกันหากพบว่าสัญลักษณ์รูปปรอทนี้กลายเป็นสีแดง หมายถึงเครื่องยนต์มีอุณหภูมิสูงเกินกว่าปกติ
อุณหภูมิของเครื่องยนต์สูงเกินปกติ
วิธีรับมือเมื่อรถยนต์ความร้อนขึ้น
- เมื่อพบว่ารถยนต์ความร้อนขึ้น ควรหาที่จอดรถและดับเครื่องทันที พร้อมเปิดฝากระโปรงหน้ารถ เพื่อช่วยระบายความร้อนของเครื่องยนต์
ข้อควรระวัง! แนะนำว่าค่อย ๆ เปิดฝากระโปรงหน้ารถและห้ามเปิดฝาหม้อน้ำในขณะเครื่องยนต์ยังร้อนโดยเด็ดขาด เพราะอาจมีน้ำร้อนพุ่งขึ้นมาได้
- จอดพักรถและรอให้ความร้อนลดลง และค่อย ๆ เปิดฝาหม้อน้ำอย่างระมัดระวัง เพื่อระบายแรงดันในหม้อน้ำที่เหลือออก
ข้อควรระวัง! ระหว่างการเปิดฝาหม้อน้ำ ควรหาผ้าหนา ๆ หรือสวมถุงมือก่อนการเปิด เพื่อป้องกันความร้อนโดนมือ
คำแนะนำจาก BRG : หากเครื่องยนต์ยังร้อนอยู่ ไม่ควรเติมน้ำหรือสาดน้ำเข้าไปยังห้องเครื่อง เพราะอาจส่งผลให้ฝาสูบโก่งหรือแตกได้
- จากนั้นค่อยเติมน้ำทีละน้อย ๆ อย่างช้า ๆ โดยทิ้งช่วงเวลาห่างกันประมาณ 5 นาที เพื่อสังเกตดูระดับน้ำในหม้อน้ำก่อน
ข้อควรระวัง! หากพบว่าเมื่อเติมน้ำลงไปในหม้อน้ำแล้วไม่เต็มสักที แถมใต้ท้องรถยังมีน้ำรั่วไหลออกมาหมด ให้สันนิษฐานได้เลยว่า หม้อน้ำแตก ควรนำเข้าศูนย์บริการเพื่อซ่อม
- หลังจากเติมน้ำแล้ว น้ำไม่มีอาการรั่วซึมหรือรั่วซึมเพียงเล็กน้อย สามารถขับต่อไปได้ แต่ยังต้องค่อยหมั่นสังเกตว่ามีอาการความร้อนขึ้นอยู่หรือไม่ หรือทางที่ดีควรนำเข้ามาตรวจเช็กที่ศูนย์บริการ เพื่อความมั่นใจ
วิธีการป้องกันอาการเครื่องยนต์โอเวอร์ฮีท
รถยนต์ทุกคันมีโอกาสที่จะเกิดอาการความร้อนขึ้นได้ ดังนั้นแนะนำว่าควรหมั่นตรวจสอบสภาพอุปกรณ์ของรถยนต์อยู่เสมอ เช่น สายพานต้องไม่หย่อนหรือตึงเกินไป มีรอยรั่วที่ส่วนหม้อน้ำหรือครีบรังผึ้งหม้อน้ำหรือไม่ ? พัดลมระบายความร้อนยังอยู่ในสภาพปกติหรือไม่? เป็นต้น
คำแนะนำจาก BRG :
- ในกรณีรถยนต์ใหม่ อายุการใช้งานไม่เกิน 5 ปี หมั่นตรวจสอบระดับน้ำในหม้อน้ำอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง
- รถยนต์ที่มีอายุการใช้งานเกิน 5 ปีขึ้นไป ควรเช็กหม้อน้ำ 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์ เติมน้ำสะอาดและถ่ายน้ำในหม้อน้ำทิ้งทุก ๆ 4-6 เดือน เพื่อป้องกันสิ่งสกปรกตกค้างในหม้อน้ำและทำให้เกิดการอุดตันได้ในอนาคต
- ไม่ควรเติมน้ำเกินกว่าขีดที่กำหนด เนื่องจากเมื่อน้ำเดือด หม้อน้ำจะเกิดการขยายตัวขึ้น หากมีน้ำอยู่เกินกว่าปริมาณที่กำหนด อาจส่งผลให้หม้อน้ำแตกได้
หากมีสัญญาณเตือนของอาการรถยนต์ความร้อนขึ้น แนะนำว่าให้นำรถยนต์เข้าเช็กที่ศูนย์บริการใกล้บ้าน หรือนำรถยนต์เข้ามาเช็กที่ศูนย์บริการ BRG Group ทั้ง 3 สาขา (สาขาศรีนครินทร์ สาขาแจ้งวัฒนะ และสาขารามคำแหง) เพื่อตรวจและซ่อมแซมก่อนจะลุกลามไปยังส่วนอื่น ๆ ทำให้เกิดปัญหาต่าง ๆ ตามมาในอนาคต